วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
10 วิธีการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
ในแต่ละวันเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารมากมาย มีคำแนะนำจากหลายสำนักให้กินนั่น ห้ามกินนี่จนไม่รู้จะเชื่อใครดี วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับง่ายๆ ของการกินให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพอย่างเต็มที่มาฝาก
1. กินอาหารเช้า เป็นพฤติกรรมพื้นฐานที่ส่งผลต่อจิตใจ และพลังชีวิตของคุณไปตลอดทั้งวัน และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยเผาผลาญพลังงานให้ดีขึ้น ทำให้คุณกินอาหารในมื้ออื่นๆ น้อยลง
2. เปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ยอมจ่ายแพงสักนิดใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันดอกทานตะวัน ปรุงอาหารแทนน้ำมันแบบเดิมที่เคยใช้ เพราะเป็นไขมันที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย และมีกรดไขมันอิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
3. ดื่มน้ำให้มากขึ้น คนเราควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย (ยกเว้นในรายที่ไตทำงานผิดปกติ) เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย ฟื้นฟูระบบขับถ่าย รักษาระดับความเข้มข้นของเลือด จะทำให้สดชื่นตลอดวันเลยทีเดียว
4. เสริมสร้างแคลเซียมให้กับกระดูก ด้วยการดื่มนม กินปลาตัวเล็กทั้งตัวทั้งก้าง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ผักใบเขียว เพราะแคลเซียมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้ระบบประสาททำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
5. บอกลาขนมและของกินจุบจิบ ตัดของโปรดประเภทโดนัท คุกกี้ เค้กหน้าครีมหนานุ่ม ออกจากชีวิตบ้าง แล้วหันมากินผลไม้เป็นของว่างแทน วิตามิน และกากใยในผลไม้ มีประโยชน์กว่าไขมัน และน้ำตาลจากขนมหวานเป็นไหนๆ
6. สร้างความคุ้นเคยกับการกินธัญพืชและข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ข้าวฟ่างและลูกเดือย รวมทั้งข้าวกล้องที่เคยคิดว่าเป็นอาหารนก ได้มีการศึกษาและค้นคว้าแล้ว พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว เพราะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และควบคุมน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
7. จัดน้ำชาให้ตัวเอง ทั้งชาดำ ชาเขียว ชาอู่ล่ง หรือเอิร์ลเกรย์ ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ การดื่มชาวันละ 1 ถึง 3 แก้ว ช่วยลดอัตราเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 30%
8. กินให้ครบทุกสิ่งที่ธรรมชาติมี คุณต้องพยายามรับประทานผักผลไม้ต่างๆ ให้หลากสี เป็นต้นว่า สีแดงมะเขือเทศ สีม่วงองุ่น สีเขียวบล็อกเคอรี สีส้มแครอท อย่ายึดติดอยู่กับการกินอะไรเพียงอย่างเดียว เพราะพืชต่างสีกัน มีสารอาหารต่างชนิดกัน แถมยังเป็นการเพิ่มสีสันการกินให้กับคุณด้วย
9. เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนรักปลา การกินปลาอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ได้ทั้งความฉลาดและแข็งแรง เพราะปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 และโปรตีน ที่ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และบำรุงเซลล์สมอง ทั้งยังมีไขมันน้อย อร่อย ย่อยง่าย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหุ่นเพรียวลมเป็นที่สุด
10. กินถั่วให้เป็นนิสัย ทำให้ถั่วเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่คุณต้องกินทุกวัน วันละสัก 2 ช้อน ไม่ว่าจะเป็นของหวานของคาว หรือว่าของว่างก็ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสำคัญๆ หลายชนิด ต่างพากันไปชุมนุมอยู่ในถั่วเหล่านี้ ควรกินถั่วอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรกินครั้งละมากๆ เพราะมีแคลอรี่สูง อาจทำให้อ้วนได้
ถ้าปฏิบัติให้ได้ครบทุกข้อตามคำแนะนำข้างต้นนี้จนเป็นนิสัย สุขภาพดีๆ จะไปไหนเสีย !!
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2551 11:11 น. http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000079603
การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ
การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ
1. ให้ลดปริมาณไขมันที่มีอยู่ในอาหารทั้งหมดให้เหลือเพียง 35% ของแคลอรีที่รับประทานในแต่ละวัน ซึ่งปัจจุบันคนเราได้พลังงานจากไขมันสูงถึงกว่า 40%
2. ควรจำกัดไขมันชนิดอิ่มตัวที่ได้จากสัตว์ หรือไขมันจากพืช หรือปลา แต่มาทำให้อยู่ในสภาพแข็งโดยวิธีเอาน้ำออก ที่เรียกว่าไฮโดรจีเนชัน
3. ให้ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนแทนไขมันชนิดอิ่มตัว เพื่อลดปริมาณคอเลสเตอรอล
4. ต้องลดอาหารทุกชนิดเพื่อลดจำนวนแคลอรีลง โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว หมายความว่าต้องลดทั้งคาร์โบไฮเดรต และไขมันด้วย เพราะคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านขบวนการแล้วโดยเฉพาะพวกน้ำตาลและแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนเป็นไขมันได้ ถ้าร่างกายยังไม่ต้องการใช้เป็นพลังงาน
ข้อแนะนำวิธีการลดไขมันอิ่มตัว
1. รับประทานเนื้อและไข่แดงให้น้อยลง แต่ให้เพิ่มเนื้อสัตว์ปีกและปลาให้มากขึ้นแทน เลือกรับประทานแต่เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน พยายามตัดส่วนมันที่ติดอยู่กับเนื้อสัตว์ออกให้หมด ควรปิ้งหรือย่างมากกว่าทอด
2. ไม่ควรใช้เนยสดแต่ให้ใช้มาการีนชนิดนุ่มที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนแทน มาการีนชนิดนี้จะอ่อนตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในตู้เย็นหรืออุณหภูมิห้องตามปกติ หลีกเลี่ยงครีมและไขมันที่ลอยเป็นฝาอยู่บนนมเสมอ
3. ใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนเวลาปรุงอาหาร เช่นน้ำมันข้าวโพด นำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันดอกคำฝอย อย่าใช้มาการีนที่แข็งตัวได้หรือน้ำมันหมู น้ำมันปรุงอาหารที่ติดสลากไว้เพียงคำว่า “น้ำมันพืช” อาจมีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงมากและมีไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนเพียงนิดเดียว
4. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
แนวทางปฏิบัติในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ
1. อย่าใช้เนยสดหรือมาการีนแข็งทาขนมปัง ให้ใช้มาการีนชนิดนุ่มที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนแทน
2. อย่าใช้น้ำมันหมู เนยสด หรือมาการีนชนิดแข็งตัวในการปรุงอาหาร และทำขนมอบ ให้ใช้น้ำมันข้าวโพด หรือน้ำมันดอกทานตะวัน และมาการีนที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
3. รับประทานเนื้อหมูหรือเนื้อวัวให้น้อยลง โดยเฉพาะเนื้อติดมัน เบคอนและเครื่องในสัตว์ ถ้าจะรับประทานให้เอาส่วนมันออกเสียก่อน และควรปิ้งหรือย่างดีกว่าทอด รับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ปีกให้มากกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัว และอย่ารับประทานน้ำมันที่ออกมาจากเนื้อสัตว์ขณะทำให้สุก ไม่ว่าจะนำไปทำซอสราดบนเนื้อสัตว์ (ที่เรียกว่าน้ำเกรวี่) ก็ตาม
4. งดใช้ครีมและนมที่มีไขมันเนยเต็มอัตราไม่ว่าจะดื่มหรือปรุงอาหาร ให้ใช้นมที่เอาไขมันเนยออกแล้วที่เรียกว่าสกิมมิลค์
5. ลดไข่และเนยแข็ง รับประทานได้ไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ และให้รับประทานเนยชนิดคอตเตจ (cottage cheese) หรือเนยแข็งที่ทำมาจาก สกิมมิลค์ก็ได้
6. งดเค้กและขนมอบทุกชนิดที่วางขายในท้องตลาด และเมื่อจะทำเองที่บ้านควรใช้ไขมันชนิดมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนแทนด้วย
7. ลดอาหารคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกรรมวิธีแล้ว โดยเฉพาะน้ำตาลและแอลกอฮอล์ ให้รับประทานผักและผลไม้ ใช้น้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายแดงช่วยให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายขาว
8. เมื่อออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน พยายามเลี่ยงอาหารประเภทตับบด เนยแข็ง ครีม ไข่ ซุปข้นที่มีมัน ซอสที่ราดบนอาหารและเนื้อสัตว์ติดมัน
9. เมื่อรับประทานอาหารฝรั่งควรเลือกน้ำผลไม้คั้น ผลไม้จำพวกแตง หรือซุปใส และรับประทานแต่เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันโดยเลือกเนื้อสัตว์ปีกและเนื้อปลาไว้เสมอ ไม่ควรลืมรับประทานผักสด ตบท้ายด้วยผลไม้แทนเค้กหรือของหวานอื่น ๆ
ที่มา http://www.camarcio.co.th/underoneroof/tipshealth.php#
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)